การจัดการพลังงาน เป็นหัวใจสำคัญของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพการผลิต รวมทั้งยังมีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการจัดการและควบคุมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานอย่างมหาศาล จะเห็นได้ว่าหลายธุรกิจต่างเริ่มนำระบบจัดการพลังงาน Energy Management System (EMS) เข้ามาใช้ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งและช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมร่วมพัฒนาประเทศสู่เส้นทางแห่งความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
ทำความรู้จักระบบจัดการพลังงาน Energy Management System
ระบบจัดการพลังงาน หรือ Energy Management System (EMS) คือระบบที่ช่วยให้สามารถบริหารจัดการการใช้พลังงานในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรวบรวมข้อมูลการใช้พลังงานจากทุกจุดในระบบ แล้วนำมาวิเคราะห์ เพื่อหาแนวทางในการลดการสูญเสียพลังงาน ซึ่งจะนำไปสู่การลดค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยมีส่วนประกอบหลัก ได้แก่
- เกตเวย์ (Gateway) ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากเซ็นเซอร์และอุปกรณ์
- ซอฟต์แวร์ (Software) ใช้ในการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลพลังงาน
- อินเทอร์เฟซ (Interface) ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบและควบคุมระบบได้อย่างง่ายดาย
ประเภทของ Energy Management System
ระบบจัดการพลังงานสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักตามลักษณะการใช้งานในอาคารและโรงงาน ดังนี้
1. ระบบจัดการพลังงานในอาคาร (Building EMS)
Building EMS เป็นระบบที่พัฒนาเพื่อใช้ในอาคารที่มีความซับซ้อนในการจัดการพลังงาน โดยเน้นการควบคุมและปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานในพื้นที่ที่ต้องมีการใช้งานร่วมกัน เช่น อาคารสำนักงาน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า หรืออาคารที่มีการใช้งานเชิงพาณิชย์ โดยระบบนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและเพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้งานในอาคาร โดยมีลักษณะการทำงาน ได้แก่
- ควบคุมระบบไฟฟ้า ปรับการทำงานของระบบไฟฟ้า เช่น การให้แสงสว่างในพื้นที่ส่วนกลาง รวมถึงระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวเพื่อเปิด-ปิดไฟในพื้นที่ที่ไม่มีผู้ใช้งาน
- จัดการระบบปรับอากาศ (HVAC) ลดการใช้พลังงานในระบบปรับอากาศ โดยปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมตามช่วงเวลาและปริมาณผู้ใช้งาน
- ควบคุมการใช้ลิฟต์และบันไดเลื่อน จัดการการทำงานของลิฟต์และบันไดเลื่อนให้สอดคล้องกับการใช้งานจริง เช่น หยุดการทำงานชั่วคราวในช่วงเวลาที่มีการใช้งานน้อย
2. ระบบจัดการพลังงานในโรงงาน (Factory EMS)
Factory EMS เป็นเหมือนผู้ช่วยที่คอยดูแลการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานจำนวนมากให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเน้นการควบคุมการใช้พลังงานในเครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งมีลักษณะการทำงาน ได้แก่
- ควบคุมการใช้พลังงานในเครื่องจักร ตรวจสอบและจัดการการทำงานของเครื่องจักรให้เหมาะสม เช่น การลดเวลาการทำงานในช่วงที่ไม่จำเป็น หรือการปิดเครื่องจักรที่ไม่ได้ใช้งาน
- จัดการระบบส่งลมเย็น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบส่งลมเย็น เช่น การปรับระดับการหมุนเวียนอากาศตามความต้องการจริง
- ปรับปรุงการทำงานของปั๊มและมอเตอร์ ลดการสูญเสียพลังงานในระบบปั๊มและมอเตอร์ โดยปรับระดับแรงดันและการทำงานให้เหมาะสม
ประโยชน์ของระบบจัดการพลังงานในภาคอุตสาหกรรม
การนำระบบจัดการพลังงาน (Energy Management System หรือ EMS) มาใช้ในภาคอุตสาหกรรม มีประโยชน์สำคัญ ดังนี้
1. ลดต้นทุนการดำเนินงาน
ระบบ EMS ช่วยลดการสูญเสียพลังงานในกระบวนการผลิต โดยสามารถตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานในแต่ละส่วนของโรงงาน เช่น เครื่องจักร สายพานลำเลียง ระบบควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งข้อมูลที่ได้จาก EMS ช่วยให้องค์กรสามารถระบุจุดที่ใช้พลังงานเกินความจำเป็นและปรับปรุงการทำงานของอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นำไปสู่ผลลัพธ์การลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในกระบวนการผลิต
2. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
EMS ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลการใช้พลังงานในแต่ละส่วนของโรงงานอย่างละเอียด โดยสามารถตรวจจับข้อมูลแบบเรียลไทม์และแสดงผลในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ทำให้สามารถระบุส่วนที่สิ้นเปลืองพลังงานและหาวิธีแก้ไขเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักรและอุปกรณ์ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้กระบวนการผลิตมีความเสถียรมากขึ้น
3. สนับสนุนความยั่งยืนและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในยุคที่ความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจ EMS มีบทบาทสำคัญในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยสามารถควบคุมการใช้พลังงานจากแหล่งที่มีการปล่อยมลพิษสูง เช่น การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อทำการปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างเหมาะสม โดยการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ จะช่วยลดทรัพยากรที่เสียเปล่า เช่น ไฟฟ้า น้ำ รวมถึงเชื้อเพลิง ทำให้องค์กรสามารถตอบสนองต่อข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐและตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีอีกด้วย
ขั้นตอนการติดตั้งและการใช้เทคโนโลยีด้านพลังงานในภาคอุตสาหกรรม
การติดตั้งระบบจัดการพลังงาน (EMS) ในภาคอุตสาหกรรมมีขั้นตอนที่สำคัญและจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อให้ระบบทำงานได้เต็มประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการขององค์กรได้ดีที่สุด
1. วางแผนและประเมินความต้องการพลังงานขององค์กร
ขั้นตอนแรกของการติดตั้ง EMS คือการวางแผนและประเมินความต้องการด้านพลังงานในองค์กร เพื่อให้ทราบถึงภาพรวมการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตและระบุจุดที่สามารถปรับปรุงได้ โดยมีกระบวนการ คือ
- ตรวจสอบการใช้พลังงานในแต่ละส่วน โดยรวบรวมข้อมูลการใช้พลังงานจากเครื่องจักร อุปกรณ์ และกระบวนการผลิต เพื่อหาจุดที่มีการใช้พลังงานสูงเกินไป
- วิเคราะห์กระบวนการผลิต เพื่อระบุส่วนที่มีการสูญเสียพลังงาน เช่น การเดินเครื่องจักรในช่วงเวลาที่ไม่จำเป็น หรือการทำงานของระบบปรับอากาศที่ไม่มีการควบคุม
- กำหนดเป้าหมาย ตั้งเป้าหมายลดการใช้พลังงานอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ลดต้นทุนพลังงาน 10% ภายใน 1 ปี
2. ติดตั้งและตั้งค่าระบบให้เหมาะสมกับแต่ละส่วนของอุตสาหกรรม
เมื่อได้ข้อมูลจากการวางแผนและประเมินแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือ การเลือกอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมกับลักษณะการทำงานขององค์กร โดยเลือกอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ซึ่งมีฟีเจอร์ที่เหมาะสม เพื่อตั้งค่าระบบให้สอดคล้องกับการทำงานของแต่ละส่วนในกระบวนการผลิต เช่น การกำหนดตารางการทำงานของเครื่องจักร
3. ดูแลและตรวจสอบระบบ
หลังจากติดตั้งแล้ว การดูแลและตรวจสอบข้อมูลการใช้พลังงานในแต่ละวัน หรือแต่ละสัปดาห์ รวมถึงการตรวจเช็กความพร้อมของฮาร์ดแวร์ เป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้ EMS ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพและช่วยป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น หากพบการใช้พลังงานที่สูงผิดปกติ เช่น เครื่องจักรทำงานเกินเวลาที่กำหนด ควรรีบแก้ไขทันที
4. ปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่อง
ในยุคที่เทคโนโลยีและความต้องการของอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การปรับปรุงระบบ EMS ให้ทันสมัยและเหมาะสมกับความต้องการขององค์กรเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีแนวทาง เช่น การอัปเดตซอฟต์แวร์อย่างสม่ำเสมอ ติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ รวมถึงการวางแผนปรับปรุงตามข้อมูลที่ได้รับ
ระบบจัดการพลังงาน (EMS) ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งไม่เพียงช่วยลดการสูญเสียพลังงาน แต่ยังส่งเสริมให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างยั่งยืน สำหรับธุรกิจที่ต้องการปรับตัวสู่การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ขอแนะนำการวางแผน Energy Saving ในธุรกิจและโรงงาน กับ GreenYellow ที่ให้บริการดูแลและปรับเปลี่ยนอุปกรณ์หลากหลายประเภทอย่างครอบคลุม ได้แก่ ชิลเลอร์ เครื่องส่งลมเย็น เครื่องอัดอากาศ ปั๊ม หอระบายความร้อน เครื่องทำลมแห้ง ตัวกรองอากาศ และระบบไฟ โดยทำการศึกษาการใช้พลังงานในสถานที่ที่ต้องการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้ฟรี เพื่อนำเสนอโปรแกรมการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมาพร้อมกับระบบจัดการพลังงาน (EMS) ที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับบริษัทของคุณที่สุดโดยไม่ต้องลงทุนเอง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
- เบอร์โทรศัพท์ 02-079-8081
- LINE ID: @greenyellowth
- E-mail * gr*********@gr*********.com
ข้อมูลอ้างอิง:
- ระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS). สืบค้นเมื่อ 4 ธันวาคม 2567 จาก https://thai-smartgrid.com/เกี่ยวกับสมาร์ทกริด/tech-basic-related-smartgrid/ems/