การอ่านบิลค่าไฟฟ้าโรงงานอุตสาหกรรม เป็นทักษะสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถควบคุมต้นทุนด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากไฟฟ้าเป็นต้นทุนหลักของการดำเนินธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น การทำความเข้าใจในรายละเอียดของบิลค่าไฟจะช่วยให้สามารถวางแผนลดค่าใช้จ่ายและบริหารจัดการพลังงานได้อย่างยั่งยืน
ศัพท์พื้นฐานที่ควรรู้เกี่ยวกับไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรม
ก่อนเริ่มอ่านบิลค่าไฟฟ้า จำเป็นต้องเข้าใจคำศัพท์พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับพลังงานไฟฟ้าในโรงงาน ซึ่งมีดังนี้
- กิโลวัตต์ (kW) : หน่วยวัดกำลังไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์ (kW) จะเท่ากับ 1,000 วัตต์ (W)
- กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) : หน่วยวัดพลังงานไฟฟ้าที่ใช้งาน ซึ่งคำนวณจากความต้องการพลังงาน (กิโลวัตต์) คูณด้วยระยะเวลาใช้งาน (ชั่วโมง)
- แรงดันไฟฟ้า : วัดเป็นโวลต์ (V) ซึ่งโดยทั่วไปโรงงานอุตสาหกรรมใช้ไฟฟ้าที่แรงดัน 380V เพื่อรองรับการทำงานของเครื่องจักร หากแรงดันไฟฟ้าต่ำเกินไป เครื่องจักรอาจทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้เกิดโหลดสูง และเพิ่มค่าใช้จ่าย
- กระแสไฟฟ้า : วัดเป็นแอมแปร์ (A) โดยเป็นตัวบ่งชี้ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านในวงจร
วิธีอ่านบิลค่าไฟฟ้าโรงงาน
การอ่านบิลค่าไฟฟ้าโรงงาน อาจเป็นเรื่องที่ซับซ้อนสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคย แต่การทำความเข้าใจบิลค่าไฟฟ้าเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ โดยมีข้อมูลสำคัญในบิลค่าไฟโรงงานอุตสาหกรรมที่ควรตรวจสอบทุกครั้ง ดังนี้
1. ข้อมูลส่วนตัวของโรงงาน
บิลค่าไฟฟ้าจะแสดงข้อมูลพื้นฐานของโรงงาน โดยการตรวจสอบข้อมูลส่วนนี้จะช่วยป้องกันความผิดพลาด เช่น การเรียกเก็บเงินจากหมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้าผิด จึงควรตรวจสอบให้ดีว่าข้อมูลดังต่อไปนี้มีความถูกต้อง
- ชื่อโรงงานและที่อยู่ : ตรวจสอบว่าข้อมูลถูกต้องและตรงกับสถานประกอบการ
- ประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า : โรงงานมักจัดอยู่ในประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าอุตสาหกรรม ซึ่งมีอัตราค่าไฟแตกต่างจากผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไป
- หมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้า : ใช้สำหรับการอ้างอิงข้อมูลและติดต่อกับหน่วยงานการไฟฟ้า
2. ช่วงเวลาการเรียกเก็บเงิน
บิลจะระบุระยะเวลาการใช้งานที่ถูกเรียกเก็บ โดยการตรวจสอบช่วงเวลาจะช่วยให้แน่ใจว่าไม่มีความคลาดเคลื่อนในรอบบิล เช่น การเรียกเก็บเงินซ้ำซ้อน หรือข้ามรอบ ซึ่งการเปรียบเทียบช่วงเวลาการเรียกเก็บเงินกับข้อมูลการผลิตในโรงงาน จะช่วยให้ทราบถึงการใช้งานไฟฟ้าและปริมาณการผลิตระหว่างรอบบิล
3. จำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้
วิธีดูหน่วยไฟฟ้าในบิล คือภายในบิลจะแสดงจำนวนพลังงานไฟฟ้าที่โรงงานใช้ในหน่วยกิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญของการใช้พลังงาน เช่น หากบิลระบุว่าใช้ไฟฟ้า 10,000 kWh แปลว่าโรงงานใช้ไฟฟ้าในปริมาณนี้ โดยสามารถใช้เปรียบเทียบตัวเลขนี้กับบิลรอบก่อนหน้าเพื่อตรวจจับการเพิ่ม หรือลดลงของการใช้พลังงาน หากพบว่าจำนวนหน่วยไฟฟ้าเพิ่มขึ้นผิดปกติ อาจเกิดจากอุปกรณ์ที่เสื่อมสภาพ หรือใช้งานผิดวิธี
4. ค่าไฟฟ้าต่อหน่วย
ค่าไฟฟ้าต่อหน่วย แสดงเป็น บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง (บาท/kWh) โดยควรตรวจสอบให้ดีว่าอัตราค่าไฟฟ้าตรงกับอัตราที่หน่วยงานการไฟฟ้ากำหนด
5. ค่า FT (ค่าไฟฟ้าผันแปร)
ค่า FT เป็นส่วนสำคัญที่ปรับตามต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงในตลาดโลก เช่น ราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรืออัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะถูกคำนวณและปรับเปลี่ยนทุก 4 เดือน (ปีละ 3 รอบ) โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อนำมาคำนวณเพิ่มในบิลค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม ค่า FT จะถูกคำนวณจากอัตรา FT (บาท/หน่วย) x จำนวนหน่วยไฟฟ้า
6. ค่าใช้จ่ายทั้งหมด
บิลจะแสดงค่าใช้จ่ายรวมที่ต้องชำระในรอบบิล โดยรวมถึงค่าพลังงานไฟฟ้า ค่าบริการรายเดือน ค่า FT และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งมีสูตรการคำนวณ ‘ค่าไฟรวม = (หน่วยไฟฟ้า x ค่าไฟต่อหน่วย) + ค่า FT + ค่าบริการ + VAT’
ตัวอย่างวิธีอ่านบิลค่าไฟฟ้าโรงงาน
ข้อมูลสมมุติจากบิลค่าไฟฟ้าโรงงาน
- ช่วงเวลาการเรียกเก็บเงิน : 1 มกราคม – 31 มกราคม
- จำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ : 10,000 kWh
- ค่าไฟฟ้าต่อหน่วย : 5 บาท/kWh
- อัตรา FT : 0.3972 บาท/หน่วย
การคำนวณจากตัวอย่าง
- ค่าพลังงานไฟฟ้า : จำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ในรอบเดือน x ค่าไฟฟ้าต่อหน่วย
- 10,000 kWh x 5 บาท/kW = 50,000 บาท
- ค่า FT : จำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ในรอบเดือน x อัตรา FT ที่กำหนด
- 10,000 kWh x 0.3972 บาท/หน่วย = 3,972 บาท
- ค่าบริการ : ค่าบริการในตัวอย่างนี้กำหนดไว้เป็นค่าบริการขั้นต่ำที่เรียกเก็บจากประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าอุตสาหกรรม
- 33.29 บาท
- ค่าไฟรวมก่อน VAT : นำค่าพลังงานไฟฟ้า, ค่า FT และค่าบริการมารวมกัน เพื่อหาค่าไฟรวมก่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
- 50,000 + 3,972 + 33.29 = 54,005.29 บาท
- VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) : คิดจากอัตรา 7% ของค่าไฟก่อนรวม VAT
- 54,005.29 x 0.07 = 3,780.37 บาท
- ค่าไฟฟ้าทั้งหมด : นำค่าไฟก่อนรวม VAT บวกกับ VAT เพื่อหาค่าไฟฟ้ารวมที่ต้องชำระในรอบบิลนี้
- 54,005.29 + 3,780.37 = 57,785.66 บาท
เคล็ดลับการประหยัดค่าไฟในโรงงานอุตสาหกรรม
ตรวจสอบ Power Factor
ค่า Power Factor (PF) คือ ตัวชี้วัดประสิทธิภาพของการใช้พลังงานไฟฟ้าในโรงงาน หากค่า PF ต่ำกว่ากำหนด (ปกติควรไม่ต่ำกว่า 0.85) อาจส่งผลให้โรงงานต้องเสียค่าปรับเพิ่มเติมจากหน่วยงานการไฟฟ้า การแก้ไขปัญหานี้สามารถทำได้โดยการติดตั้ง Capacitor Bank เพื่อปรับปรุงค่า PF ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
ควบคุมแรงดันไฟฟ้าให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
การตรวจสอบแรงดันไฟฟ้าในระบบไฟฟ้าของโรงงาน เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้า ควรรักษาระดับแรงดันไฟฟ้าให้เหมาะสม (380V ในโรงงานทั่วไป) โดยใช้ Stabilizer หรือ AVR (Automatic Voltage Regulator) เพื่อป้องกันแรงดันไฟฟ้าผันผวน ซึ่งแม้ว่าแรงดันไฟฟ้าจะไม่ได้แสดงอยู่ในบิลโดยตรง แต่การตรวจสอบแรงดันไฟฟ้าให้สม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงจากการสูญเสียพลังงานและป้องกันค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น
บริหารความต้องการพลังงานสูงสุด (Peak Demand)
การบริหารความต้องการพลังงานสูงสุด หรือ Peak Demand ช่วยลดค่าใช้จ่ายในช่วงที่ไฟฟ้ามีอัตราค่าไฟฟ้าสูง เช่น
- เลี่ยงการใช้งานในช่วง On-Peak หรือในช่วงเวลา 09:00-22:00 น. ของวันจันทร์-ศุกร์ โดยวางแผนให้เครื่องจักรที่ใช้พลังงานสูงทำงานในช่วง Off-Peak แทน เช่น เวลากลางคืน 22:00-09:00 น.
- ใช้พลังงานสำรองในช่วง On-Peak เช่น ใช้พลังงานทดแทน หรือเครื่องปั่นไฟฟ้าสำรอง
กระจายการใช้งานเครื่องจักร
การใช้งานเครื่องจักรหลายตัวพร้อมกันในเวลาเดียวกันอาจทำให้เกิดโหลดไฟฟ้าสูงสุด ส่งผลให้ค่าไฟพุ่งสูงขึ้น แนะนำให้จัดตารางการทำงานของเครื่องจักร โดยกระจายเวลาการใช้งานให้ไม่ซ้อนทับกัน รวมถึงอาจมีการใช้ระบบจัดการโหลดไฟฟ้า (Load Management System) เพื่อลดการใช้พลังงานเกินความจำเป็น
ติดตั้งโซลาร์เซลล์
พลังงานทดแทน เช่น โซลาร์เซลล์ ช่วยลดการพึ่งพาพลังงานจากระบบไฟฟ้าสาธารณะ โดยสามารถช่วยลดปริมาณหน่วยไฟฟ้าที่ต้องซื้อจากการไฟฟ้า นำไปสู่การลดต้นทุนจากค่าไฟฟ้าไปได้ อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนเป้าหมายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งต้องการ
สำหรับผู้ประกอบการที่มองหาโซลูชันที่ตอบโจทย์ สามารถใช้งานไฟฟ้าในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่าไฟ ขอแนะนำโครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ฟรี จาก GreenYellow ที่ลงทุนติดตั้งพร้อมดำเนินการตั้งแต่กระบวนการออกแบบ ขอใบอนุญาต ไปจนถึงการดูแลระบบและการบำรุงรักษาในระยะยาว โดยมีข้อเสนอในการให้ส่วนลดคงที่จากอัตราค่าไฟฟ้าตลอดทั้งสัญญา หรือสามารถได้อัตราส่วนลดเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดตามอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตลอดระยะสัญญา ช่วยสร้างความยั่งยืนในระยะยาวทั้งในด้านค่าใช้จ่ายและสิ่งแวดล้อม !
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
- เบอร์โทรศัพท์ 02-079-8081
- LINE ID: @greenyellowth
- E-mail * gr*********@gr*********.com
ข้อมูลอ้างอิง:
- คำชี้แจงค่า Ft ก.ย. – ธ.ค. 2567. สืบค้นเมื่อ 4 ธันวาคม 2567 จาก https://www.mea.or.th/our-services/tariff-calculation/latestft/GYcaWbjWi